กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ภาคใต้

กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ภาคใต้

.

ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้

พบว่าพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 26 - 30 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้

.

1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และ

มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคใต้ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง และนราธิวาส

3. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณคลองบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คลองชุมพร อำเภอเมืองชุมพร คลองหลังสวน อำเภอหลังสวน คลองสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพรคลองอิปัน อำเภอพระแสง แม่น้ำตาปี อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองท่าดี อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนคร และคลองอู่ตะเภาอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา แม่น้ำปัตตานี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี แม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ คลองตันหยงมัส อำเภอระแงะ อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณปากอ่าวเนื่องจากจะมีระดับน้ำทะเลหนุนยกตัวสูงกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 0.5 – 1.0 เมตร

.

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

.

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า

90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก

3. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

5. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

#NNT #สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ #น้ำท่วม #ภาคใต้


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar