จ.ประจวบฯ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 อำเภอ ฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะเตรียมพร้อมรับเหตุอุทกภัยช่วงฤดูฝน

            (16 ก.ย.64) ที่ห้องประชุมสิงขร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2564 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอทุกอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมประชุมผ่านระบบซูม เพื่อซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยระดับจังหวัดในรูปแบบการฝึกบนโต๊ะ เน้นย้ำบทบาท หน้าที่ และสร้างความเข้าใจกลไกการทำงานร่วมกันตามแนวทางของระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดยจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงพื้นที่ประสบสาธารณภัยทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 134 หมู่บ้าน พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 63 หมู่บ้าน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 94 หมู่บ้าน และพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม 31 หมู่บ้าน ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนบัญชาการเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย เพื่อให้การปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การป้องกันแก้ไขสถานการณ์และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันท่วงที 

            นอกจากนี้ ได้มีการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติต่อสถานการณ์สมมุติ พร้อมถอดบทเรียนปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะต่อแผนเผชิญเหตุ การปรับปรุงแนวทางการประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น รวมทั้งมีการชี้แจงหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยส่วนราชการต่างๆ ที่มีวงเงินทดรองราชการ จะต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ลงนามในประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่นั้นๆ ก่อนจึงจะสามารถใช้งบประมาณส่วนนี้ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้

            นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้มีความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ เป็นการทดสอบความพร้อมด้านบุคลากร สถานที่ ทรัพยากร การประสานงาน และการสื่อสาร ตลอดจนการเชื่อมต่อผ่านระบบประชุมทางไกลระหว่างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางของระบบบัญชาการเหตุการณ์ รวมถึงการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของแผนเผชิญเหตุ คู่มือบัญชาการเหตุการณ์สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีอุทกภัย สามารถที่จะนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่

////////////////////////////

ที่มา : ธนวัต วงศ์วิริยะวณิช สวท.ประจวบคีรีขันธ์

จัดทำข้อมูล : ส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สปข.8 กาญจนบุรี / 16 ก.ย.64

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar